ไขมันในเลือดสูง
ความสำคัญของไขมันในเลือดสูง
ไขมันในเลือดสูงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการจากไขมันในเลือดสูงแต่อาจมีปัญหาระยะยาวจากการที่ไขมันในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานแล้วทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ตีบตัน ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆของร่างกายได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ (โรคอัมพฤกษ์)
เกณฑ์การตัดสินว่าไขมันสูง
ไขมันในเลือดประกอบไปด้วยโคเลสเตอรอล , ไตรกลีเซอร์ไรด์ , แอลดีแอล (LDL) และ เอชดีแอล (HDL) มีไขมันเอชดีแอล (HDL) เท่านั้นที่เป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย คือถ้าสูงจะดี ( เกิน 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ถ้าต่ำจะไม่ดี (ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ส่วนไขมันชนิดอื่นถ้าสูงเกินเกณฑ์ถือว่าไม่ดีต่อร่างกาย
การวินิจฉัยว่าไขมันในเลือดสูงโดยทั่วไปใช้เกณฑ์ แอลดีแอล (LDL) เป็นหลัก เนื่องจากโคเลสเตอรอลประกอบด้วยไขมันที่ดี ( เอชดีแอล) และไขมันที่ไม่ดี (ไตรกลีเซอร์ไรด์และแอลดีแอล) ดังนั้นถ้าดูระดับโคเลสเตอรอลเพียงอย่างเดียวอาจผิดพลาดได้
เกณฑ์ของไขมันในเลือดผิดปกติมีดังนี้
แอลดีแอลสูง ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดตีบ ใช้เกณฑ์สูงเกิน 160 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดตีบ เช่น เป็นความดันโลหิตสูง , สูบบุหรี่ , มีคนในบ้านเป็นโรคหัวใจตอนอายุน้อย , เอชดีแอลต่ำ ใช้เกณฑ์ 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถ้ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดส่วนปลายตีบหรือเป็นเบาหวานใช้เกณฑ์ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ใครบ้างที่ควรตรวจระดับไขมันในเลือด
ควรตรวจเมื่ออายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ถ้าปกติและไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ และอายุยังไม่เกิน 45 ปี ( ผู้ชาย) หรือ 55 ปี (สำหรับผู้หญิง) ไม่มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัวตั้งแต่อายุยังไม่มาก (ผู้ชายไม่เกิน 55 ปีและผู้หญิงไม่เกิน 65 ปี) และยังไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ก็ตรวจซ้ำในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วและตรวจไขมันในเลือดว่าปกติก็ตรวจซ้ำในอีก 1-3 ปี