อักษรวิ่ง

โรคที่มักพบในผู้สูงอายุ

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคืออะไร
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ การสูบบุหรี่ โดยโรคนี้ประกอบไปด้วยโรค 2 ชนิดย่อย คือ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคถุงลมโป่งพองโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไอและมีเสมหะเรื้อรังเป็นๆหายๆ อย่างน้อยปีละ 3 เดือนและเป็นอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกัน ส่วนโรคถุงลมโป่งพองนั้นเกิดจากถุงลมโป่งพองตัวออกทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซผิดปกติไป โดยทั่วไปเรามักพบ 2 โรคนี้เกิดร่วมกันและแยกออกจากกันได้ยาก

อาการเป็นอย่างไร
            ในช่วงที่เป็นระยะแรกๆ จะไม่มีอาการ แต่ถ้าปอดถูกทำลายมากขึ้นจะเริ่มมีอาการไอเรื้อรัง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี๊ด ๆ
ถ้าไปพบแพทย์ แล้วแพทย์จะวินิจฉัยได้อย่างไร
            โดยทั่วไป แพทย์จะซักประวัติการสูบบุหรี่ อาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นจึงตรวจเอ็กซเรย์ปอดและในบางรายอาจทำการตรวจสมรรถภาพปอดเพิ่มเติมครับ
ถ้าทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้แล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
 1. อย่างแรกสุดคือ ควรหยุดสูบบุหรี่ เพราะจะยิ่งทำให้อาการเป็นมากขึ้น
 2. ควรฝึกหายใจบ่อยๆ จะทำให้กล้ามเนื้อช่วยหายใจแข็งแรง ต้องทำเป็นประจำจึงจะได้ผล ทำตอนว่างๆ ตอนไหนก็ได้ วิธีการฝึกมีดังนี้
            • ให้หายใจเข้าทางจมูก ปล่อยหน้าท้องให้ป่อง
            • ห่อปาก แล้วหายใจออกทางปากอย่างช้าๆ พร้อมกับแขม่วท้อง
            • ให้หายใจออกยาวกว่าหายใจเข้า
3. ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ควรปรึกษาแพทย์ด้วยนะครับว่าสามารถออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด
4. ระวังการติดหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โดยไม่คลุกคลีกับคนที่เป็นหวัดอยู่ ไม่ไปในที่ที่มีคนแออัด ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
5. ไม่ให้ท้องผูก เนื่องจากการเบ่งอุจจาระมากๆ อาจทำให้หอบเหนื่อยได้
6. หลีกเลี่ยงฝุ่นละออง ควันต่างๆ และหลีกเลี่ยงอากาศที่เย็น
7. ดื่มน้ำมากๆ ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด หรือไอศกรีมเย็นๆ
8. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
9. ไปพบแพทย์สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา โดยเฉพาะยาพ่นแก้หอบ ควรพกติดตัวตลอดเวลาและตรวจเช็คว่ายังมีปริมาณเพียงพอก่อนจะถึงนัดการตรวจครั้งต่อไป
10. ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี





ที่มา;http://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_6_006.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น