อักษรวิ่ง

โรคที่มักพบในผู้สูงอายุ

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562

ความหมายของผู้สูงอายุ

       วัยสูงอายุหรือวัยชรา หมายถึง มนุษย์ที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายของชีวิต
       คำจำกัดความต่างๆเกี่ยวกับผู้สูงอายุในองค์การสหประชาชาติ
       ผู้สูงอายุ หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (เจริญ ธานีรัตน์,2550,หน้า 21)
       ผู้สูงอายุ หมายถึง เอาอายุเป็นหลักในการเรียก (60+ปี)
แบ่งผู้สูงเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุตอนต้นและผู้สูงอายุตอนปลาย
       1.ผู้สูงอายุตอนต้น หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง
       2.ผู้สูงอายุตอนปลาย หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ทั้งชายและหญิง


 ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงคือความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มม . ปรอท ขึ้นไปโดยต้องวัดขณะพัก วัดอย่างน้อย 2 ครั้ง และในช่วงนั้น ไม่ได้มีเหตุอื่นที่อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ เช่นรับประทานยาบางชนิด มีไข้ไม่สบาย เป็นต้น ถ้าวัดความดันได้ปกติก็สมควรติดตามวัดความดันโลหิตปีละครั้งต่อไป
            โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับการเกิดโรคหลอดลือดหัวใจตีบ และ    หลอดเลือดสมองตีบและแตก นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการเสื่อมลงของหลอดเลือด ทั่วร่างกาย ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างได้ไม่ดี

การรักษาขึ้นกับระดับความดันและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ รายที่ความดันไม่สูงมาก และปัจจัยเสี่ยง น้อยอาจติดตามวัดความดันเป็นระยะ แต่ในรายที่ความดันสูงมากและมีปัจจัยเสี่ยงมาก อาจต้องให้ยาไปเลย ยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันและการตอบสนองยาไม่เหมือนกัน แต่ทุกรายไม่ว่าความดันโลหิตสูงมาก หรือ สูงน้อยก็ต้องปฏิบัติตัวเหมือนกัน ดังนี้คือ
            • หยุดสูบบุหรี่
            • ลดน้ำหนักตัวในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
            • ลดการดื่มสุรา
            • ลดการรับประทานอาหารเค็ม
            • ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย
            • ติดตามวัดความดันเป็นระยะ อย่าดูแต่อาการว่าไม่เห็นมีอาการอะไรผิดปกติ เนื่องจากส่วนใหญ่เวลาความดันโลหิตสูงขึ้น มักไม่มีอาการ
            • รับประทานยาสม่ำเสมอ



ที่มา;http://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_6_005.html


ไขมันในเลือดสูง

ความสำคัญของไขมันในเลือดสูง 
ไขมันในเลือดสูงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการจากไขมันในเลือดสูงแต่อาจมีปัญหาระยะยาวจากการที่ไขมันในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานแล้วทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ตีบตัน ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆของร่างกายได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ (โรคอัมพฤกษ์)


เกณฑ์การตัดสินว่าไขมันสูง
ไขมันในเลือดประกอบไปด้วยโคเลสเตอรอล , ไตรกลีเซอร์ไรด์ , แอลดีแอล (LDL) และ เอชดีแอล (HDL) มีไขมันเอชดีแอล (HDL) เท่านั้นที่เป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย คือถ้าสูงจะดี ( เกิน 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ถ้าต่ำจะไม่ดี (ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ส่วนไขมันชนิดอื่นถ้าสูงเกินเกณฑ์ถือว่าไม่ดีต่อร่างกาย
            การวินิจฉัยว่าไขมันในเลือดสูงโดยทั่วไปใช้เกณฑ์ แอลดีแอล (LDL) เป็นหลัก เนื่องจากโคเลสเตอรอลประกอบด้วยไขมันที่ดี ( เอชดีแอล) และไขมันที่ไม่ดี (ไตรกลีเซอร์ไรด์และแอลดีแอล)      ดังนั้นถ้าดูระดับโคเลสเตอรอลเพียงอย่างเดียวอาจผิดพลาดได้
เกณฑ์ของไขมันในเลือดผิดปกติมีดังนี้       
แอลดีแอลสูง ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดตีบ ใช้เกณฑ์สูงเกิน 160 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดตีบ เช่น เป็นความดันโลหิตสูง , สูบบุหรี่ , มีคนในบ้านเป็นโรคหัวใจตอนอายุน้อย , เอชดีแอลต่ำ ใช้เกณฑ์ 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถ้ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดส่วนปลายตีบหรือเป็นเบาหวานใช้เกณฑ์ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 
ใครบ้างที่ควรตรวจระดับไขมันในเลือด
ควรตรวจเมื่ออายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ถ้าปกติและไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ และอายุยังไม่เกิน 45 ปี ( ผู้ชาย) หรือ 55 ปี (สำหรับผู้หญิง) ไม่มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัวตั้งแต่อายุยังไม่มาก (ผู้ชายไม่เกิน 55 ปีและผู้หญิงไม่เกิน 65 ปี) และยังไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ก็ตรวจซ้ำในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วและตรวจไขมันในเลือดว่าปกติก็ตรวจซ้ำในอีก 1-3 ปี
ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนไปตรวจเลือด
ควรงดอาหารก่อนไปตรวจ 9-12 ชั่วโมงครับ สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ ต้องไม่หลอกตัวเองนะครับคือ ในช่วง 3 สัปดาห์ก่อนไปตรวจถ้าเคยรับประทานอาหารอย่างไรก็ควรรับประทานแบบเดิม เพราะถ้าเรารู้ว่าจะไปตรวจเลือดและคุมอาหารอย่างดีอาจทำให้ไขมันเราไม่สูงทั้งที่ทั้งปีไขมันในเลือดสูงตลอดและไม่ได้คุมอาหารเลย






ที่มา;http://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_6_003.html
โรคเก๊าท์ (Gout)
โรคเก๊าท์เป็นโรคที่เกิดจากการมีกรดยูริกในเลือดสูง ร่วมกับมีอาการที่เกิดจากการตกผลึกของกรดยูริกในข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆข้อ ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆข้อ การเกิดเก๊าท์มักต้องมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานพอสมควร โดยเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะถ้าระดับกรดยูริกยิ่งสูง อุบัติการณ์ในการเกิดโรคจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และจะเกิดอาการได้เร็วยิ่งขึ้น ในเพศชายจะพบโรคนี้ได้บ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า แต่วัยหลังหมดประจำเดือนแล้วเพศหญิงจะมีความชุกของโรคสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเพศชาย
โรคเก๊าท์มีอาการอย่างไร 
จะเริ่มจากมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานก่อน โดยเฉลี่ยมักไม่น้อยกว่า 20 ปี การอักเสบของข้อครั้งแรกมักพบในผู้ป่วยชายอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ย 40-60 ปี แต่ในเพศหญิงมักพบหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว ข้ออักเสบในระยะแรกมักเป็นเพียง 1-2 ข้อ จะมีการอักเสบรุนแรงเป็นเฉียบพลัน จากระยะเริ่มปวดจนอักเสบเต็มที่ภายใน 24 ชั่วโมง มักเป็นที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า บ่อยครั้งที่เป็นในเวลากลางคืนขณะหลับ ระยะแรกข้ออักเสบมักเป็นไม่นาน 2-5 วัน บางรายมีไข้ได้ ในผู้สูงอายุบางครั้งอาจมีข้ออักเสบหลายข้อพร้อมกันโดยเฉพาะเป็นที่ข้อนิ้วมือ 2 ข้างตั้งแต่ระยะแรกของโรคซึ่งอาจได้ประวัติได้รับยาขับปัสสาวะร่วมด้วย หลังจากข้ออักเสบหายแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเกิดข้ออักเสบซ้ำภายใน 6 เดือนถึง 2 ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง จำนวนข้อที่อักเสบจะเพิ่มขึ้น เริ่มพบที่ข้อมือ ข้อนิ้วมือ และข้อศอก การอักเสบรุนแรงขึ้น เป็นถี่ขึ้นและนานขึ้น จนกลายเป็นการอักเสบเรื้อรังไม่มีช่วงหายสนิท ระยะนี้มักพบตุ่มโทฟัส (tophus) ใต้ผิวหนัง ตามเนื้อเยื่อต่างๆรอบข้อ ระยะเวลาตั้งแต่ข้ออักเสบครั้งแรกจนถึงระยะนี้ใช้เวลาเฉลี่ย 11.6 ปี แต่ถ้าเริ่มมีข้ออักเสบเป็นครั้งแรกในวัยสูงอายุ ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ข้ออักเสบครั้งแรกจนถึงระยะที่เกิดตุ่มโทฟัสจะสั้นลง คือมีแนวโน้มเกิดตุ่มโทฟัสเร็วและมักพบตามนิ้วมือแทนที่จะพบบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อศอก หรือข้อเข่าก่อน


ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบหรือทำให้ข้ออักเสบหายช้าได้แก่อะไรบ้าง 
ได้แก่ การได้รับยาบางชนิดเช่นยาลดกรดยูริก ยาขับปัสสาวะ หรือยาแอสไพริน เป็นต้น ดังนั้นไม่ควรเริ่มยาหรือปรับเปลี่ยนยาดังกล่าวขณะที่มีข้ออักเสบ เพราะจะทำให้มีอาการมากขึ้นหรือหายช้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นได้แก่ การบาดเจ็บที่ข้อ การบีบนวดข้อ การดื่มแอลกอฮอล์ การผ่าตัด การเสียเลือด การเสียน้ำ และการติดเชื้อ เป็นต้น
จะดูแลรักษาอย่างไร
            การรักษาในระยะที่มีการอักเสบของข้อ 

ควรพักการใช้งานของข้อนั้น หลีกเลี่ยงการบีบนวดข้อ การประคบข้อ และเริ่มรักษาโดยเร็วโดยใช้ยาลดการอักเสบของข้อ ปัจจุบันที่นิยมใช้มียาโคลชิซิน (colchicine) และยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ยาโคลชิซิน ขนาดยาที่ใช้ 1 เม็ด (0.6 มิลลิกรัม ) รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือวันละ 2 เม็ดในวันต่อมา ( ทั้งนี้ขึ้นกับการทำงานของไต สำหรับผู้สูงอายุอาจต้องลดขนาดยาลงโดยเฉพาะในวันแรก ) ให้นาน 3-7 วันหรือจนกว่าการอักเสบของข้อจะหายดี ผลข้างเคียงคือท้องเดินหรือคลื่นไส้อาเจียน ถ้ามีอาการดังกล่าวให้หยุดยา สำหรับยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) สามารถให้ได้เช่นกัน ควรเลือกยาชนิดที่ค่าครึ่งชีวิตสั้น ออกฤทธิ์เร็ว จะให้ นาน 3-7 วัน หรือจนกว่าข้อที่อักเสบจะหายดี ข้อห้ามในการใช้ยาต้านการอักเสบคือผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร การทำงานของไตบกพร่อง หรือมีโรคตับเป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องใช้จะต้องประเมินปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ไม่ควรให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับยูริกในระยะนี้เช่นผู้ป่วยที่ทานยาลดกรดยูริกในเลือดอยู่ไม่ควรให้หยุดยาหรือปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือยังไม่ได้รับยาลดกรดยูริกมาก่อนแพทย์ไม่ควรเริ่มยาลดกรดยูริกในระยะนี้
           การรักษาระยะยาวเพื่อป้องกันการอักเสบซ้ำ 
การป้องกันการเกิดข้ออักเสบซ้ำ ภายหลังจากข้ออักเสบหายแล้วถ้าผู้ป่วยมีข้ออักเสบเป็นซ้ำ อีกหลายครั้งใน 1 ปีจะแนะนำให้ทานยาโคลชิซินป้องกันโดยให้ขนาด 0.6-1.2 มิลลิกรัม / วัน จนกว่าตรวจไม่พบตุ่มโทฟัส ระดับกรดยูริกในเลือดลงต่ำกว่า 4-5 มิลลิกรัม / เดซิลิตร และไม่มีข้ออักเสบเลยอย่างน้อย 3-6 เดือน
             การรักษาภาวะกรดยูริกในเลือดสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อไปละลายกรดยูริกหรือผลึกยูเรตที่อยู่ในข้อ, รอบๆข้อ, ตามตุ่มโทฟัส หรือตามเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ที่ไต โดยใช้ยาลดกรดยูริกในเลือดซึ่งขณะนี้มี 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่ยาเพิ่มการขับกรดยูริกทางไต และยาลดการสร้างกรดยูริก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้ยาชนิดใดนั้นขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลาหลายปี มีการตรวจเลือดเช็คระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะ โดยเป้าหมายจะต้องให้ระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 5.0-6.0 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
             คำแนะนำอื่นๆ โรคเก๊าท์มักสัมพันธ์กับการมีโรคร่วมอื่น ได้แก่ ภาวะไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องรับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคร่วมด้วยเสมอ ต้องลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักตัว ดื่มน้ำพอสมควร งดการดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับอาหารนั้นผู้ป่วยโรคเก๊าท์ไม่จำป็นต้องจำกัดอาหารประเภทสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ หรือยอดผัก เพราะอาหารประเภทดังกล่าวมีผลทำให้เกิดข้ออักเสบได้น้อย ยกเว้นต้องจำกัดอาหารเพื่อควบคุมความดันโลหิต หรือไขมันเป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรจะต้องได้รับการประเมินการทำงานของไตและนิ่วของทางเดินปัสสาวะเสมอ 







ที่มา;http://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_8_006.html
โรคต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของผู้ชายอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่สร้างสารน้ำที่อยู่ในน้ำอสุจิ โดยทั่วไปต่อมลูกหมากมักโตขึ้นอย่างช้าๆตั้งแต่อายุ 40 ปี จนเมื่ออายุ 60 ปี ผู้ชายร้อยละ 50 จะมีต่อมลูกหมากโตและเมื่ออายุ 80 ปี ผู้ชายร้อยละ 80 มีต่อมลูกหมากโต แต่ในจำนวนนี้เพียงแค่ครึ่งเดียวที่จะมีอาการ
อาการที่บ่งบอกว่าต่อมลูกหมากโต 
ถ้าต่อมลูกหมากโตขึ้นจนอุดตันทางออกของปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะ จะทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะไม่พุ่ง ต้องเบ่งมาก ปัสสาวะบ่อยขึ้น บางรายต้องตื่นนอนมาปัสสาวะคืนละหลายครั้ง 


การวินิจฉัยโรค 
อาการปัสสาวะผิดปกติเป็นสิ่งแรกที่ทำให้นึกถึงโรคนี้ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการสอดนิ้วเข้าทางทวารหนักเพื่อคลำขนาดต่อมลูกหมาก นอกจากนั้นในบางรายอาจตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือไม่ และตรวจพีเอสเอ (PSA) ในเลือดในบางรายที่สงสัยว่าอาจมีมะเร็งต่อมลูกหมากร่วมด้วย 




การรักษา                                                                                                                                     ถ้าอาการไม่มากอาจไม่จำเป็นต้องรักษาแต่ตรวจติดตามเป็นระยะ แต่ถ้าอาการผิดปกติของ                การปัสสาวะรบกวนการดำเนินกิจวัตรประจำวัน อาจให้การรักษาด้วยยากลุ่มแอลฟ่าบล็อคเกอร์ (alpha-blocker) เพื่อขยายกล้ามเนื้อรอบๆ ท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้คล่องขึ้น ยาตัวนี้มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตด้วย ดังนั้นแพทย์จึงต้องค่อยๆ ปรับขนาดยา และวัดความดันผู้ป่วยเป็นระยะ หากผู้ป่วยมีอาการหน้ามืด โดยเฉพาะเวลาลุกยืน ควรบอกแพทย์ด้วย ในรายที่รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้รับการผ่าตัด โดยการใส่กล้องที่เป็นท่อเล็กๆ เข้าไปทางท่อปัสสาวะเพื่อตัดต่อมลูกหมากที่อุดท่อปัสสาวะออก 
โลหิตจาง
โลหิตจางคืออะไร
โลหิตจางหรือซีด หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า เลือดน้อย คือ การที่มีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติทางการแพทย์จะหมายถึงการที่ระดับค่าฮีโมโกลบินในเลือดต่ำกว่า 13 กรัม / เดซิลิตรในผู้ชายหรือ    12 กรัม / เดซิลิตรในผู้หญิง ถ้าคิดเป็นค่าฮีมาโตคริตคือความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 39 และ 36 เปอร์เซ็นต์ในผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ



สาเหตุของโลหิตจาง
           โลหิตจางเป็นแค่ผลที่เกิดขึ้น ทุกคนต้องมีสาเหตุ ที่พบบ่อยได้แก่
           • ซีดจากการสูญเสียเลือด
                       - บางครั้งมีเลือดออกจากทางเดินอาหารซึ่งจะเห็นเป็นถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายดำแต่ถ้าออกครั้งละน้อยๆ แต่ออกบ่อยอาจไม่เห็นว่าถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายดำ แต่จะมีโลหิตจางได้ โรคที่ทำให้ถ่ายมีเลือดปนที่พบบ่อยได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร โรคหลอดเลือดโป่งพอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น สาเหตุที่พบบ่อยอีกอย่างคือ การรับประทานยาแก้ปวดแก้เมื่อยเป็นประจำแล้วยาระคายกระเพาะอาหารทำให้อักเสบ มีแผล เกิดเลือดออกได้
                       - เสียเลือดจากมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ถ้าถึงวัยหมดประจำเดือนแล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด ต้องรีบไปตรวจทันทีเนื่องจากอาจเกิดจากโรคมะเร็งได้
           • ซีดจากการขาดสารอาหาร ผู้สูงอายุบางรายอาจรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ซึ่งอาจจากการที่เบื่ออาหาร มีโรคประจำตัวบางอย่าง เลือกรับประทานอาหาร หรือปัญหารายได้ไม่เพียงพอ อาจทำให้โลหิตจางได้
           • ซีดจากโรคเรื้อรัง เช่น ไตวาย โรคตับ ข้ออักเสบ เป็นต้น ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดได้น้อยกว่าปกติ
           • โรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกเสื่อม เป็นต้น
อาการของโลหิตจาง
            อาจถูกคนอื่นทักว่าเหลือง ซีด มีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย มึนงงศีรษะ หน้ามืด บางคนที่โลหิตจางมากอาจเป็นลม หมดสติ หกล้ม หัวใจทำงานหนักจนวายได้





การป้องกันและรักษา
            • ไม่รับประทานยาชุด แก้ปวดเมื่อย แก้อักเสบ ยาหม้อ ยาลูกกลอนเอง เนื่องจากมักมียาที่ระคายกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการปวดเสียดท้อง ท้องอืด เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะอาหารทะลุได้
            • รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนและอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ไข่ ตับ ไต เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่ว งา เมล็ดฟักทอง ลูกเดือย เป็นต้น
            • หากมีอาการปวดเสียดแน่นท้อง ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม ถ่ายดำหรือมีเลือดปน เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาออกเรื้อรัง จ้ำเลือดออกตามตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา
            • ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคโลหิตจาง ควรไปตรวจยืนยันและแพทย์ต้องตรวจหาสาเหตุเสมอว่าทำไมถึงโลหิตจาง หลังจากนั้นจึงรักษาสาเหตุ แพทย์อาจให้ยาบำรุงเลือดมารับประทาน รับประทานแล้วอาจมีถ่ายอุจจาระดำได้จากสีของยา 

ที่มา;http://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_6_011.html

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคืออะไร
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ การสูบบุหรี่ โดยโรคนี้ประกอบไปด้วยโรค 2 ชนิดย่อย คือ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคถุงลมโป่งพองโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไอและมีเสมหะเรื้อรังเป็นๆหายๆ อย่างน้อยปีละ 3 เดือนและเป็นอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกัน ส่วนโรคถุงลมโป่งพองนั้นเกิดจากถุงลมโป่งพองตัวออกทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซผิดปกติไป โดยทั่วไปเรามักพบ 2 โรคนี้เกิดร่วมกันและแยกออกจากกันได้ยาก

อาการเป็นอย่างไร
            ในช่วงที่เป็นระยะแรกๆ จะไม่มีอาการ แต่ถ้าปอดถูกทำลายมากขึ้นจะเริ่มมีอาการไอเรื้อรัง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี๊ด ๆ
ถ้าไปพบแพทย์ แล้วแพทย์จะวินิจฉัยได้อย่างไร
            โดยทั่วไป แพทย์จะซักประวัติการสูบบุหรี่ อาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นจึงตรวจเอ็กซเรย์ปอดและในบางรายอาจทำการตรวจสมรรถภาพปอดเพิ่มเติมครับ
ถ้าทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้แล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
 1. อย่างแรกสุดคือ ควรหยุดสูบบุหรี่ เพราะจะยิ่งทำให้อาการเป็นมากขึ้น
 2. ควรฝึกหายใจบ่อยๆ จะทำให้กล้ามเนื้อช่วยหายใจแข็งแรง ต้องทำเป็นประจำจึงจะได้ผล ทำตอนว่างๆ ตอนไหนก็ได้ วิธีการฝึกมีดังนี้
            • ให้หายใจเข้าทางจมูก ปล่อยหน้าท้องให้ป่อง
            • ห่อปาก แล้วหายใจออกทางปากอย่างช้าๆ พร้อมกับแขม่วท้อง
            • ให้หายใจออกยาวกว่าหายใจเข้า
3. ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ควรปรึกษาแพทย์ด้วยนะครับว่าสามารถออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด
4. ระวังการติดหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โดยไม่คลุกคลีกับคนที่เป็นหวัดอยู่ ไม่ไปในที่ที่มีคนแออัด ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
5. ไม่ให้ท้องผูก เนื่องจากการเบ่งอุจจาระมากๆ อาจทำให้หอบเหนื่อยได้
6. หลีกเลี่ยงฝุ่นละออง ควันต่างๆ และหลีกเลี่ยงอากาศที่เย็น
7. ดื่มน้ำมากๆ ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด หรือไอศกรีมเย็นๆ
8. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
9. ไปพบแพทย์สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา โดยเฉพาะยาพ่นแก้หอบ ควรพกติดตัวตลอดเวลาและตรวจเช็คว่ายังมีปริมาณเพียงพอก่อนจะถึงนัดการตรวจครั้งต่อไป
10. ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี





ที่มา;http://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_6_006.html

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

อาการปัสสาวะราดในผู้สูงอายุ

       ผู้สูงอายุมีลักษณะทางคลินิกที่แตกต่างจากผู้ที่มีอายุน้อยกว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาเนื่องความชรา อาการและอาการแสดงที่ไม่จำเพาะเจาะจง การมีพยาธิสภาพหลายระบบในเวลาเดียวกัน การบริหารยาหลายชนิด สภาวะสุขภาพที่แตกต่างกันแม้จะมีอายุใกล้เคียงกัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพได้ อาการปัสสาวะราด เป็นหนึ่งในอาการและอาการแสดงที่ไม่จำเพาะเจาะจง ทั้งนี้เพราะอาจเกิดจากพยาธิสภาพได้หลายสาเหตุซึ่งอาจแก้ไขได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาเนื่องความชราเพียงอย่างเดียว การที่ผู้สูงอายุเอง ญาติผู้ดูแล หรือแม้แต่แพทย์ที่พบกับปัญหานี้มีทัศนคติต่ออาการปัสสาวะราดว่าแก้ไขไม่ได้ เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติของผู้สูงอายุที่ผู้ประสบปัญหานี้จะต้องทนอยู่กับอาการดังกล่าวในชั่วชีวิตที่เหลือ จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายในโอกาสที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุนั้นดีขึ้นได้
       แม้ว่าความชุกของอาการปัสสาวะราดในผู้สูงอายุในชุมชนจะประมาณร้อยละ 12-15 แต่ความชุกที่แท้จริงน่าจะมากกว่านี้ ทั้งนี้เพราะอาการปัสสาวะราดเป็นสิ่งที่น่าละอายที่ผู้สูงอายุมักไม่ค่อยอยากเปิดเผย โดยเฉพาะการศึกษาในชุมชนที่ใช้แบบสัมภาษณ์ และถ้าแบบสัมภาษณ์นั้นสำรวจเรื่องอื่นๆด้วย ผู้สูงอายุอาจเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและคงช่วยอะไรไม่ได้จึงไม่มีความสำคัญที่จะต้องตอบ ปรากฏการณ์นี้ยังพบได้บ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไปที่ผู้สูงอายุมักไม่รายงานอาการนี้ให้แพทย์ทราบ นอกจากแพทย์จะถามนำเสียเอง ดังนั้นเมื่อไรที่ผู้สูงอายุรายงานให้แพทย์ทราบมักจะมีอาการมานานจนทนไม่ได้แล้ว นอกจากนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมมักมีความชุกของอาการปัสสาวะราดมากกว่าผู้สูงอายุปรกติ การสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลจากผู้สูงอายุที่มีสมองเสื่อมจึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ง่าย โดยทั่วไปความชุกของอาการปัสสาวะราดจะพบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุหญิงประสบปัญหานี้มากกว่าชายถึงสองเท่า ความชุกนี้ยังเพิ่มขึ้นเมื่อผู้สูงอายุอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยพบเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในบ้านพักคนชรา ร้อยละ 70 ในหอผู้ป่วยผู้สูงอายุ และร้อยละ 80 ในหอผู้ป่วยผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต ความสำคัญของแนวโน้มนี้บอกให้ทราบถึงปัจจัยเนื่องจากสุขภาพทั่วไปทั้งด้านกายและจิตที่มีผลต่อความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน อันจะนำไปสู่อาการปัสสาวะราดในที่สุด
ผลกระทบทางเวชกรรมของอาการปัสสาวะราดที่สำคัญในผู้สูงอายุ ได้แก่
                           • ด้านกายภาพ
                           • ผิวหนังเปื่อยและแตกเป็นแผลกดทับได้ง่าย
                           • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำบ่อยๆ
                           • หกล้ม โดยเฉพาะปัสสาวะราดเวลากลางคืน
                           • การสูญเสียความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน
                           • ด้านจิตใจ
                           • ภาวะซึมเศร้า
                           • การแยกตัวจากสังคม
                           • ด้านสังคม
                           • เป็นภาระต่อผู้ดูแลและครอบครัว
                           • ไม่สามารถดำเนินชีวิตโดยลำพังและถ้าขาดผู้ดูแล จำเป็นต้องอาศัยการดูแลในโรงพยาบาลหรือบ้านพักคนชรา
                           • ด้านเศรษฐกิจ
                           • ค่าจ้างผู้ดูแลหรือญาติไม่สามารถประกอบอาชีพเพราะต้องคอยทำความสะอาดตลอดทั้งวัน
                           • ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์เช่น สายสวนปัสสาวะ แผ่นรองกันเปื้อน
                           • ค่ารักษาต่างๆกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อน

แม้ว่าสาเหตุของอาการปัสสาวะราดจะมีมากมายและแตกต่างกันระหว่างหญิงและชาย แต่มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่สามารถรักษาให้หายได้ ทั้งโดยพฤติกรรมบำบัด การใช้ยา ตลอดจนการผ่าตัด อย่างไรก็ตามการรักษาจะไม่ประสบผลสำเร็จได้ถ้าปราศจากการประเมินผู้ป่วยโดยละเอียดอันได้แก่ การประเมินสุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันและสถานภาพทางสังคมและครอบครัว โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีการพยากรณ์โรคดีมักเป็นผู้ที่ยังมีความสามารถทางสติปัญญาดี และการเคลื่อนไหวช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง ส่วนผู้ที่ไม่สามารถแก้ไขสาเหตุได้ทั้งหมด              การรักษาพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสะดวกสบายในชีวิตดีกว่าเดิม ก็สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้

ที่มา;http://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_6_001.html

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562

ความหมายของผู้สูงอายุ

       วัยสูงอายุหรือวัยชรา หมายถึง มนุษย์ที่มีอายุอยู่ในช่วงปลสยของชีวิต
       คำจำกัดความต่างๆเกี่ยวกับผู้สูงอายุในองค์การสหประชาชาติ
       ผู้สูงอายุ หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (เจริญ ธานีรัตน์,2550,หน้า 21)
       ผู้สูงอายุ หมายถึง เอาอายุเป็นหลักในการเรียก (60+ปี)
แบ่งผู้สูงเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุตอนต้นและผู้สูงอายุตอนปลาย
       1.ผู้สูงอายุตอนต้น หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง
       2.ผู้สูงอายุตอนปลาย หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ทั้งชายและหญิง